เทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันเราในทุกมิติ ช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วและสะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนเราอาจตามไม่ทัน หรือเกิดความผิดพลาดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคนในฐานะพลเมืองดิจิทัล คือ Digital Literacy หรือ ทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ยังช่วยให้เราใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
โดย Digital Literacy มีความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการสื่อสาร ด้านการเรียนรู้ ด้านการทำงาน และด้านการเงิน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ด้านการสื่อสาร
การสื่อสารออนไลน์ (Online Communication) ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล การมีทักษะ Digital Literacy จะช่วยให้เราอยู่ในโลกออนไลน์ได้ปลอดภัยมากขึ้น เช่น
- การใช้เครื่องมือสื่อสาร ช่วยให้เราสามารถเลือกใช้เครื่องมือได้เหมาะสมกับข้อความที่ต้องการสื่อออกไป เช่น ใช้ LINE ในการพูดคุยเรื่องส่วนตัว และใช้ Zoom ในการประชุมออนไลน์
- มีความรับผิดชอบ ช่วยให้เราเข้าใจถึงผลกระทบและการรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการโพสต์และการแสดงความคิดเห็นของเราบนโลกออนไลน์
- การประเมินความน่าเชื่อถือ ช่วยให้เราสามารถประเมินความน่าเชื่อของแหล่งข้อมูลว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้แชร์ข้อมูลผิดออกไป
ด้านการเรียนรู้
ถ้าเราอยากรู้อะไร การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตถือเป็นช่องทางแรกที่เรานึกถึง เพราะมีความสะดวกและรวดเร็ว การมีทักษะ Digital Literacy จึงมีความสำคัญต่อการเรียน ทั้งกับตัวผู้สอนและผู้เรียน เช่น
- เข้าถึงข้อมูลได้หลากหลาย ช่วยให้ผู้เรียนค้นหาข้อมูลที่ตัวเองต้องการเจอจากแหล่งข้อมูลจำนวนมาก และประเมินได้ว่าข้อมูลแหล่งไหนมีความน่าเชื่อถือ นำไปใช้งานได้
- พัฒนาสื่อการเรียน ช่วยให้ผู้สอนใช้เครื่องมือในการสร้างสื่อการเรียนรูปแบบต่าง ๆ ที่ดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้ เช่น คลิปวิดีโอ การจำลองสถานการณ์ และการสร้าง Gamification
- การเรียนทางไกลสะดวกขึ้น ช่วยให้สถาบันการศึกษาจัดการเรียนออนไลน์ ผ่านการนำระบบจัดการการเรียนรู้มาเป็นแพลตฟอร์มให้ผู้สอนจัดการเรียนทางไกลได้
ด้านการทำงาน
องค์กรสมัยใหม่มีการนำซอฟต์แวร์เข้ามาใช้ในการทำงานหลายตัว เพราะช่วยให้การทำงานรวดเร็วและวัดผลลัพธ์ได้ชัดเจน ซึ่งการมีทักษะ Digital Literacy จะเข้ามาช่วยให้พนักงานได้ประโยชน์หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น
- เพิ่ม Productivity ในการทำงาน ช่วยให้พนักงานใช้งานเครื่องมือบริหารการทำงานเป็น เพื่อให้การจัดการงานง่ายขึ้น เช่น Trello และ Asana
- การประสานงานง่ายขึ้น ช่วยให้พนักงานใช้งานแพลตฟอร์มการทำงาน เพื่อทำงานร่วมกับพนักงานคนอื่นได้ เช่น Microsoft 365 และ Google Workspace
- มีความพร้อมในการปรับตัว ช่วยให้พนักงานรู้จักเครื่องมือใหม่ ๆ ได้เร็วขึ้น และเรียนรู้เพื่อนำมาใช้งานได้ ช่วยให้องค์กรมีศักยภาพในการแข่งขัน
ด้านการเงิน
การทำธุรกรรมทางการเงินในปัจจุบันเป็นอีกกิจกรรมที่หลายคนหันไปทำผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เพราะทำได้ง่ายและประหยัดเวลา ซึ่งการมี Digital Literacy จะช่วยให้เราได้ประโยชน์ด้านการเงิน เช่น
- การเข้าถึงบริการทางการเงิน ช่วยให้เราใช้บริการการเงินออนไลน์ของธนาคาร และทำธุรกรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงิน โอนเงิน และการดูยอดรวมในบัญชี
- การวางแผนการเงิน ช่วยให้เราใช้แอปพลิเคชั่นจัดการงบประมาณ เพื่อติดตามค่าใช้จ่ายของเรา และตั้งเป้าหมายการออม
- การลงทุน ช่วยให้เราเข้าถึงแพลตฟอร์มการลงทุน เพื่อศึกษาข้อมูลและความเสี่ยงของการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน
เมื่อเราเข้าใจถึงความสำคัญของ Digital Literacy ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันแล้ว อีกเรื่องที่ต้องมีความเข้าใจเช่นกัน คือหลักการของ Digital Literacy ซึ่งเป็นรากฐานของการใช้ชีวิตและทำงานด้วยเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

หลักการสำคัญของ Digital Literacy
Digital Literacy แบ่งออกเป็น 3 หมวดหลักตามแนวคิดของ Hiller Spires ศาสตราจารย์ด้านทักษะการใช้เทคโนโลยี จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตต (North Carolina State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลาย ดังนี้
- การค้นหาและบริโภคเนื้อหาดิจิทัล (Finding and consuming digital content)หมวดนี้เน้นความสามารถในการเข้าถึง ค้นหา ประเมิน และใช้งานข้อมูล รวมถึงเนื้อหาต่าง ๆ ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากแหล่งที่น่าเชื่อถือและประเมินความถูกต้องของข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การสร้างเนื้อหาดิจิทัล (Creating digital content) หมวดนี้เน้นความสามารถในการสร้างสรรค์และการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อออกแบบและแก้ไขเนื้อหาดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น บทความ วิดีโอ อินโฟกราฟิก และมัลติมีเดีย ที่มีคุณค่าและสอดคล้องกับจริยธรรมทางดิจิทัล
- การสื่อสารและแบ่งปันเนื้อหาดิจิทัล (Communicating or sharing it) หมวดนี้เน้นความสามารถในการสื่อสาร หรือการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูล ความคิด และเนื้อหาต่าง ๆ กับผู้อื่นให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างเหมาะสม ปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ
การทำความเข้าใจใน 3 หมวดหลักนี้ จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะดิจิทัลให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

แล้วการมี Digital Literacy ต้องมีทักษะอะไรบ้าง?
Digital Literacy คือทักษะสำคัญในยุคดิจิทัลที่ทุกคนควรมี เพื่อให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยไปด้วย ซึ่งการมี Digital Literacy ที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นได้เอง แต่ต้องมาจากการพัฒนาและฝึกฝนทักษะในหลากหลายด้านควบคู่กัน โดยมีทักษะสำคัญ 8 อย่างด้วยกันดังนี้
1. ทักษะการใช้เทคโนโลยีพื้นฐาน (Basic Digital Skills)
- สามารถใช้อุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตได้อย่างคล่องแคล่ว
- สามารถใช้โปรแกรมพื้นฐาน เช่น Microsoft Office, Google Docs, และ Email ในการทำงานได้
- เข้าใจการตั้งค่าและบำรุงรักษาอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อยืดอายุการใช้งาน
2. ทักษะการสืบค้นและประเมินข้อมูล (Information Literacy)
- ค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม
- แยกแยะข่าวปลอม (Fake News) และข้อมูลที่เชื่อถือได้
- เข้าใจแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ ฐานข้อมูลวิชาการ
3. ทักษะความปลอดภัยทางดิจิทัล (Cybersecurity & Privacy Awareness)
- รู้จักการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว (Privacy Settings) เพื่อป้องกันข้อมูลส่วนตัว
- ใช้รหัสผ่านที่ปลอดภัยและจัดการบัญชีออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม
- ตระหนักถึงภัยคุกคามออนไลน์ เช่น ฟิชชิ่ง (Phishing) และมัลแวร์ (Malware)
4. ทักษะการสื่อสารออนไลน์ (Digital Communication)
- ใช้โซเชียลมีเดียและอีเมลในการติดต่ออย่างเหมาะสม
- เข้าใจมารยาทในโลกออนไลน์เพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
- สามารถทำงานร่วมกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Google Drive, Microsoft Teams ได้
5. ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
- วิเคราะห์ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตอย่างรอบคอบ
- ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลก่อนเชื่อหรือแชร์
- ระวังอคติทางดิจิทัล (Algorithm Bias) และ Filter Bubble ที่อาจทำให้เรามองเห็นแต่สิ่งที่ตรงกับความคิดของตัวเองเท่านั้น
6. ทักษะการสร้างเนื้อหาดิจิทัล (Digital Content Creation)
- สามารถใช้เครื่องมือเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาดิจิทัลได้ เช่น Canva, Photoshop, Premiere Pro, CapCut เป็นต้น
- สามารถสร้างเนื้อหาผ่านบทความ บล็อก หรือโพสต์บนโซเชียลมีเดีย เพื่อสื่อสารข้อมูลหรือความรู้ให้กับผู้อ่านได้อย่างเหมาะสม
- เข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ดิจิทัลและการใช้เนื้อหาภายใต้ Creative Commons
7. ทักษะการบริหารจัดการตัวตนออนไลน์ (Digital Identity Management)
- สร้างและรักษาภาพลักษณ์ดิจิทัลที่ดี เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ในโลกออนไลน์
- เข้าใจผลกระทบจากข้อมูลที่โพสต์ออนไลน์ที่อาจส่งผลต่อชีวิตจริง
- ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างเครือข่ายและโอกาสทางอาชีพ
8. ทักษะการเรียนรู้และปรับตัวทางดิจิทัล (Digital Adaptability & Lifelong Learning)
- เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องและไม่หยุดพัฒนา
- ใช้แหล่งเรียนรู้ เช่น คอร์สออนไลน์จาก YouTube, Coursera หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ
- ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเทคโนโลยีและโลกดิจิทัล
การพัฒนาทักษะเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้าง Digital Literacy ที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้เราสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งเติบโตไปกับการพัฒนาทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยทั้ง 8 ทักษะที่กล่าวถึงไม่เพียงแต่เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้าง Digital Literacy ที่มีคุณภาพ แต่ยังช่วยให้เราใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียนรู้ หรือการสื่อสารออนไลน์ ทำให้มีความมั่นใจในการใช้งานเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น สามารถปรับตัวได้อย่างคล่องแคล่วในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง
แหล่งอ้างอิง
- How to improve digital literacy skills
https://www.adobe.com/acrobat/hub/increase-your-digital-literacy.html - What is Digital Literacy, Its Importance, and Challenges?
https://www.edtechreview.in/trends-insights/insights/what-is-digital-literacy-its-importance-and-challenges/ - What are the 7 Essential Digital Literacy Skills?
https://www.eschoolnews.com/digital-learning/2024/01/03/what-are-the-7-essential-digital-literacy-skills/ - 4 Principles Of Digital Literacy
https://www.teachthought.com/literacy/digital-literacy/

Big Data Institute (Public Organization)
- Big Data Institute (Public Organization)#molongui-disabled-link