ทุกวันนี้ พูดได้เลยว่า ไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) ประเภทหนึ่ง โดยสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็น “เงินบนอินเทอร์เน็ต” กล่าวคือ มีอยู่ ถูกจัดเก็บ ถูกใช้ ผ่านระบบดิจิทัลที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตทั้งหมด จากกระแสสกุลเงินดิจิทัล ธนาคารกลางแต่ละประเทศก็เริ่มตื่นตัวกับกระแสนี้ บทความนี้จะพาทุกท่านทำความรู้จักกับสกุลเงินดิจิทัลที่มาจากธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) และคลื่นลูกใหม่แห่งความเป็นไปได้ที่อาจจะพลิกโฉมชีวิตทางการเงินของเราทุกคนในอนาคต รวมถึงโอกาสด้านการวิเคราะห์ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นจากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่จะเกิดขึ้นบนระบบทางการเงินดิจิทัลนี้ด้วย CBDC คืออะไร? CBDC คือ สกุลเงินดิจิทัลที่มีธนาคารกลางคอยกำกับดูแล เราอาจคุ้นหูในชื่อของ Digtal Yuan ของประเทศจีนหรือ Digital Thai Baht ของประเทศไทยมากกว่า แต่คำว่า CBDC ถือเป็นชื่อเรียกของนวัตกรรมนี้โดยรวม CBDC ถือเป็นเงินทางเลือก (เช่นเดียวกับ เงินสด และ เงินอิเล็กทรอนิกส์) เอาไว้ใช้ในกิจกรรมทางการเงินสำหรับประชากรที่อยู่อาศัยในประเทศนั้น สกุลเงินนี้จะถูกใช้อยู่บนกระเป๋าเงินดิจิทัล (บัญชีธนาคาร) และเราสามารถส่งเงินสกุลนี้ไปยังกระเป๋าเงินของบุคคลอื่นเพื่อใช้ในการชำระหนี้อย่างถูกกฎหมาย (เหมือนกับเงินสดทุกประการ) ธนาคารกลางจะมีหน้าที่กำกับดูแลระบบการใช้จ่ายนี้ในหลาย ๆ มิติ ได้แก่ ความปลอดภัยของระบบ ความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรม เสถียรภาพทางการเงินของสกุลเงินนี้ และ การวางรากฐานในการสร้างนวัตกรรมบนระบบนี้ เป็นต้น กล่าวโดยสรุปคือ CBDC เป็น “เงินสดในรูปแบบดิจิทัล” ที่รองรับโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศนั่นเอง CBDC เป็น “เงินสดในรูปแบบดิจิทัล” ที่รองรับโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ CBDC แตกต่างจาก Internet Banking อย่างไร? ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วทุกวันนี้ ที่เราโอนเงิน รับเงินกันผ่านมือถือ ผ่านแอพต่าง ๆ เช่น เป๋าตัง, TMB Touch, SCB Easy มันก็เหมือนเราใช้เงินในรูปแบบดิจิทัลอยู่แล้วไม่ใช่หรือ แล้ว CBDC มันต่างจาก “เงินดิจิทัล” ที่เราใช้กันอยู่แล้วทุกวันนี้ บนแอพธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อย่างไร? Internet Banking คือบริการที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารพาณิชย์บนระบบการเงินแบบดั้งเดิม ในระบบการเงินนี้ ธนาคารพาณิชย์เป็นองค์กรธุรกิจทีมีหน้าที่รับฝากเงินจากลูกค้าและหากำไรจากการนำเงินเหล่านั้นไปลงทุน หรือปล่อยกู้เพื่อกินส่วนต่าง เงินที่เราฝากกับธนาคารพาณิชย์จะเป็นทรัพย์สินของธนาคารพาณิชย์ที่ตัวธนาคารสามารถไปสร้างผลกำไรต่อ และตัวเลขในบัญชีธนาคารคือหนี้สินของธนาคารที่มีต่อเรานั่นเอง ทุก ๆ ครั้งที่เราถอนเงินจากบัญชี เราได้ทำการขอคืนเงินของเราที่ให้ธนาคารยืมไป หากจะยกตัวอย่างกรณีสุดโต่งเพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ธนาคารพาณิชย์เองก็สามารถล้มละลายได้ หากธนาคารพาณิชย์ปิดตัวลง เงินของเราที่ฝากในธนาคารก็มีความเสี่ยงที่จะหายไปด้วย โดยสรุป Internet Banking คือบริการเสริมจากบริการรับฝากเงินของธนาคารพาณิชย์ แต่ CBDC เปรียบเสมือนเงินสดบนระบบดิจิทัลรองรับโดยธนาคารกลาง ในอีกแง่หนึ่ง CBDC เป็นหนี้สินของธนาคารกลางที่มีต่อเรา (เช่นเดียวกันกับเงินสด) นอกจากนี้ CBDC จะถูกใช้งานอยู่บนระบบหลังบ้านในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลจากธนาคารกลาง ระบบนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศที่พัฒนารูปแบบของเงินให้อยู่บนระบบดิจิทัลแทน ระบบนี้นอกเหนือจากสามารถดำเนินการทำธุรกรรมทางเงินปกติแล้วนั้น ก็ยังรองรับการสร้างนวัตกรรมทางการเงินอื่น ๆ บนตัวระบบอีกด้วย โดยเฉพาะการเขียนสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) หรือการสร้างระบบการทำธุรกรรมอัตโนมัติโดยการกำหนดเงื่อนไขของการทำธุรกรรม (ซึ่งจะอธิบายเพิ่มเติมในบทความถัดไป) นอกเหนือจากนี้ CBDC ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจะรองรับการเชื่อมต่อกับระบบดิจิทัลอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกด้วย ตัวอย่างเช่น Asset Tokenization (การซื้อขายหน่วยสินทรัพย์บนระบบดิจิทัล), Digital Identity (ข้อมูลประจำตัวประชาชนบนระบบดิจิทัล), Digital Wallet (กระเป๋าสตางค์ดิจิทัล) เป็นต้น Internet Banking คือบริการที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารพาณิชย์บนระบบการเงินแบบดั้งเดิม แต่ CBDC เปรียบเสมือนเงินสดบนระบบดิจิทัลรองรับโดยธนาคารกลาง CBDC แตกต่างจาก Cryptocurrency อย่างไร? CBDC และ Cryptocurrency ทั้งคู่เปรียบเสมือนโฉมหน้าของการเงินของอนาคต ทั้งสองทำงานอยู่บนระบบดิจิทัลเหมือนกัน เราสามารถโอนย้ายสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยที่ไม่ถูกปิดกั้นจากข้อจำกัดทางกายภาพแบบเดิม ๆ ถึงกระนั้น ทั้งคู่มีความแตกต่างทางด้านเทคโนโลยีพื้นฐานและแนวคิดของการมีอยู่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้สกุลเงินทั้งสองมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เรามาทำความเข้าใจเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ดีขึ้นกันดีกว่า วิธีที่จะเข้าใจ Cryptocurrency ที่ดี คือให้จินตนาการว่า ถ้าเราอยากส่งเงินไปให้แม่ค้าออนไลน์เพื่อซื้อของ เราจะทำอย่างไร? ในปัจจุบัน เราใช้บริการธนาคารในการโอนเงินจากบัญชีของเราไปหาบัญชีของแม่ค้า ธุรกรรมนี้จะถูกบันทึกโดยธนาคาร เพราะเราเชื่อใจให้ธนาคารที่เก็บเงินและทำธุรกรรมให้เรา นี้คือระบบการเงินในปัจจุบันที่เราอาศัย “ตัวกลาง” ในการทำธุรกรรมให้เรา (ดังในรูปที่ 4 ด้านซ้าย) แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีบล็อกเชนอนุญาตให้มีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ช่วยกันเก็บข้อมูลร่วมกันด้วยหลักการกระจายศูนย์ข้อมูล (Distributed Ledger Technology: DLT) และป้องกันไม่ให้ข้อมูลในอดีตถูกเปลี่ยนแปลงได้ด้วยศาสตร์การเข้ารหัส (Cryptography) เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาสร้างผลกระทบในระบบการเงินปัจจุบัน ด้วยการสร้างระบบคอมพิวเตอร์กระจายศูนย์เพื่อร่วมกันบันทึกธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้นในระบบทั้งหมด (ดังในรูปที่ 4 ด้านขวา) โดยที่ตัว Cryptocurrency เองจะถูกใช้เป็นทั้งตัวทรัพย์สินและค่าบริการในระบบการทำธุรกรรมไร้พรมแดนนี้ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงกล่าวว่า Cryptocurrency เป็นระบบการเงินที่ “ไร้ตัวกลาง” ในปัจจุบันการใช้งานเครือข่ายคอมพิวเตอร์นี้ช่วยสร้างอรรถประโยชน์อีกมากโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ยังพึ่งพาตัวกลาง ได้แก่ การฝาก-กู้เงิน การซื้อ-ขายพลังงานสะอาด การขอข้อมูลจากแหล่งข้อมูล (API) เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความต้องการในการใช้บริการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งนั่นส่งผลให้เหรียญ Cryptocurrency ที่ถูกใช้เป็นค่าบริการมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสรุปแล้ว Cryptocurrency เป็นสกุลเงินเพื่อใช้ในการโอนย้ายมูลค่า และใช้เพื่อจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมในการใช้บริการในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์กระจายศูนย์ ส่วน CBDC เป็นเงินสดในระบบดิจิทัลที่ดูแลโดยธนาคารกลางเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมทางการเงินในประเทศ หน้าที่อีกอย่างของธนาคารกลางคือการทำให้เงินสกุลนี้มีเสถียรภาพ ผ่านนโยบายทางการเงินต่าง ๆ นอกเหนือจากนี้ ธนาคารกลางยังมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินสกุลนี้ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน และการก่อการร้าย เป็นต้น และท้ายที่สุด CBDC ก็พร้อมจะรองรับการสร้างเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในระบบ Cryptocurrency อีกด้วย แต่ทำงานโดยที่มีธนาคารกลาง/รัฐบาลดูแลอยู่ เพราะฉะนั้น CBDC เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกกำกับดูแลโดยธนาคารกลาง ทั้งคู่เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านของระบบการเงินในโลกอนาคต ธนาคารกลางมีเหตุผลในการควบคุม CBDC สกุลเงินนี้ เพราะมันเป็นตัวอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมทางการเงินภายในประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายทางการเงินต่าง ๆ พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการนำเงินนี้ไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ในขณะที่ Cryptocurrency เน้นทางด้านการใช้ประโยชน์จากระบบเก็บข้อมูลที่ไม่อาศัยตัวกลางใด ๆ และในบางเหรียญ เช่น Bitcoin ก็มีคุณค่าในการไม่สามารถถูกควบคุมโดยใคร และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินได้อีก ปัจจัยเหล่านี้สร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลในการยอมรับ Cryptocurrency ให้มีการใช้งานจริงในประเทศ เพราะอาจทำให้รัฐบาล/ธนาคารกลางไม่สามารถออกนโยบายทางการเงินที่เกิดประสิทธิผลในประเทศได้ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีอะไรที่แน่ชัดออกมาจากธนาคารกลาง เป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์ของเงินสองสกุลนี้อาจจะเสริมซึ่งกันและกันก็เป็นได้ Cryptocurrency เป็นสกุลเงินเพื่อใช้ในการโอนย้ายมูลค่า และใช้เพื่อจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมในการใช้บริการในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์กระจายศูนย์ ในขณะที่ CBDC เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกกำกับดูแลโดยธนาคารกลาง ซึ่งในทั้งสองระบบ เราสามารถโอนย้ายสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยที่ไม่ถูกปิดกั้นจากข้อจำกัดทางกายภาพแบบเดิม ๆ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจจากการออก CBDC คนจะเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ในประเทศที่ยากจน ธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เลือกที่จะเปิดสาขาในพื้นที่ในเมืองไม่ใช่ชนบท เป็นเพราะว่า ธนาคารสามารถทำกำไรกับลูกค้าบริเวณนั้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม แต่เมื่อ CBDC มาแล้วนั้น...