Taking too long? Close loading screen.

สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

Echo Chamber: เมื่อ AI เก่งขึ้น กลับยิ่งทำให้คุณอยู่ในกะลา

Jan 4, 2022

ในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้า ที่การค้นหาข้อมูลข่าวสารอะไรก็ทำได้เพียงแค่ขยับนิ้ว ทำไมความคิดของผู้คนถึงยังไม่เปิดกว้างไม่ต่างจากในอดีต Social Media ที่เหมือนจะเชื่อมคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน ยิ่งทำให้คนรับข่าวสารเพียงในวงเล็ก ๆ ของตัวเอง ปัญหา Echo Chamber ยิ่งทวีคูนขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว AI จะมาช่วยให้เราหลุดจากกะลา หรือจะยิ่งตอกตะปูไม่ให้เราขยับออกไปไหนได้กันแน่

Echo Chamber คืออะไร ?

Echo Chamber Definition
อ้างอิงจาก marketingoops.com

Echo Chamber แปลตรงตัวก็คือห้องเสียงสะท้อน นั้นหมายถึงสถานการณ์ที่คนจะได้ยินแต่ความคิดเห็นแบบเดียวกัน เป็นปัญหาที่เกิดจากการปิดกั้นข้อมูลที่แตกต่าง และรับฟังแต่เรื่องเดิม ๆ นาน ๆ ไปอาจจะทำให้เราหลงเชื่อว่าสิ่งที่เราคิด เป็นความคิดของคนส่วนใหญ่ไปได้

ถ้าพูดถึงเรื่อง Echo Chamber ในยุคปัจจุบัน ก็คงจะต้องพูดถึง Social Media ซึ่งนับว่าเป็นตัวเร่งปัญหานี้หลัก ๆ เนื่องจาก Social Media มีระบบที่เอื้อให้เกิดการจับกลุ่มที่ชอบสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Group หรือการ Follow จึงทำให้เกิดการแชร์ข่าวสารเฉพาะเจาะจงภายในกลุ่มได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ผู้คนในกลุ่มก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ทันที ซึ่งทางทฤษฎีเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เกิดการถกเถียงที่เกิดประโยชน์ขึ้นจากการตอบโต้กัน แต่ในทางปฏิบัติ ความคิดเห็นที่เป็นส่วนน้อยของกลุ่มมักจะถูกกด Dislike ถูกเรียงลำดับไว้ล่าง ๆ หรือบางทีอาจจะถูกลบโดยแอดมินกลุ่มด้วยซ้ำ ผลก็คือคนในกลุ่มก็จะมองเห็นแต่ความคิดเห็นที่สนับสนุนความคิดของตัวเอง กลายเป็นกะลาที่ครอบคนในกลุ่มไว้โดยไม่รู้ตัว

ในบทความนี้ ผมจะไม่พูดถึงผลของ Social Media เนื่องจากมีหลายบทความที่ได้พูดถึงประเด็นนี้แล้ว (ตัวอย่าง techsauce.co, marketingoops.com, songsue.co) แต่จะพูดถึงผลของ AI ที่มีต่อการเกิด Echo Chamber ครับ

AI ส่งผลอย่างไรต่อ Echo Chamber ?

ผลกระทบหลัก ๆ ของ AI ต่อปัญหานี้ เกิดจากระบบ Recommender  ที่ทำให้สามารถคัดเลือกข้อมูลให้ผู้ใช้แต่ละคนได้ในแบบ personalized ( ใครยังไม่คุ้นกับ Recommender สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ) กล่าวคือ คอนเทนต์ที่แต่ละคนได้รับ จะเป็นคอนเทนต์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับคุณคนเดียวไม่เหมือนใคร โดย AI จะเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับคุณจากประวัติการใช้งานของคุณ และข้อมูลประกอบอื่น ๆ ของคุณ เช่น สถานที่ที่คุณอยู่ การกด Like หรือ Follow เป็นต้น

ตัวระบบ Recommender นั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา Echo Chamber แต่ Recommender จะสามารถเร่ง ปัญหานี้ให้เกิดเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก Echo Chamber เกิดขึ้นเสมอเมื่อคุณสามารถเลือกเสพข้อมูลได้ เช่น การกดรีโมทเลือกช่องบนโทรทัศน์ ก็ทำให้เกิด Echo Chamber ได้แล้ว ต่างกันแค่รายการในโทรทัศน์ช่องหนึ่ง จะมีความหลากหลายในคอนเทนต์อยู่บ้าง เนื่องจากไม่มีโทรทัศน์ช่องไหนที่ทำคอนเทนต์มาสำหรับคุณคนเดียว แต่สิ่งที่ Recommender แนะนำให้คุณ จะมีแต่สิ่งที่คุณสนใจเท่านั้น

Image-based filtering recommender system
แผนภาพแสดงการทำงานของ Recommender System แบบ item-based filtering (อ้างอิงจาก medium.com)

จากการศึกษาจากข้อมูลของเว็ปไซต์ MovieLens ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับแนะนำภาพยนตร์ ที่ใช้ Recommender อัลกอริทึมแบบ item-item collaborative filtering ผู้วิจัยพบว่าความหลากหลายของภาพยนตร์ที่แพลตฟอร์มแนะนำผู้ใช้ และความหลากหลายของภาพยนตร์ที่ผู้ใช้ดู นั้นน้อยลงเรื่อย ๆ ตามเวลา (อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่นี่ ) หลายคนอาจจะแปลกใจ คิดว่าแพลตฟอร์มแนะนำภาพยนตร์น่าจะทำให้เราดูภาพยนตร์หลากหลายขึ้น เพราะมีระบบที่บอกว่าคุณชอบเรื่องนี้ น่าจะลองอีก 10 เรื่องนี้นะ (ซึ่ง MovieLens ก็มีระบบนี้)

ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่การใช้ Recommender เป็นเวลานานจะทำให้ความหลากหลายของสิ่งที่สนใจนั้นน้อยลง ในช่วงแรกคุณอาจจะไปเจอภาพยนตร์หลาย ๆ อย่างที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่คุณสนใจ แต่เมื่ออัลกอริทึมเริ่มมั่นใจแล้วว่าคุณสนใจภาพยนตร์ประเภทไหน สิ่งที่ถูกแนะนำก็จะมีแต่แนวที่คุณชอบ ไม่เปิดโอกาสให้คุณได้ลองภาพยนตร์แนวใหม่ ดังนั้น ถ้าหากคุณเลือกดูภาพยนตร์จากผล Recommender อย่างเดียว สิ่งที่คุณจะดูก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตามเวลา

Recommender จะลดโอกาสที่คุณจะเจออะไรใหม่ ๆ โดยบังเอิญ เพราะทุกอย่างที่แนะนำให้คุณเกิดจากผลจากคำนวณของ AI และจะไม่มีอะไรที่แสดงบนหน้าจอของคุณโดยบังเอิญเลย

Movie Recommendation system
ภาพหน้าจอเว็ปไซต์ MovieLens

เอ๊ะ ถ้า Recommender เลือกแต่สิ่งที่เราชอบ เร่งให้เกิด Echo chamber ถ้างั้นเราจะออกแบบ AI ที่ทำงานสวนทางกัน แนะนำสิ่งใหม่ ๆ ให้เราเรื่อย ๆ เพื่อลดปัญหานี้ได้หรือเปล่า ?

ผมมั่นใจมากว่า ในทางเทคนิคเราทำได้ เช่น เปลี่ยนเป้าหมายของการเรียนรู้ของ AI จากเดิมที่ Recommender จะพยายามเลือกรายการที่เราชอบมากที่สุด ให้กลายเป็นระบบที่ AI จะเลือกรายการที่เราชอบพอประมาณ โดยมีเงื่อนไขเพิ่มว่าต้องแตกต่างจากสิ่งที่เราดูอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาจะอยู่ที่ไม่มี use case ที่ต้องการระบบแบบนั้น เพราะสิ่งที่ผู้ทำแพลตฟอร์มต้องการมีสิ่งเดียวคือ การเลือกคอนเทนต์ที่ถูกใจลูกค้ามากที่สุดนั่นเอง

แล้วเราจะออกจาก Echo Chamber ได้อย่างไร ?

อย่างแรกก็คือ เราต้องตระหนักว่าเราทุกคนมีโอกาสอยู่ใน Echo Chamber สูงมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นจาก Echo Chamber ส่วนมากจะเกิดจากคนที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองอยู่ในนั้น ดังนั้น เพียงแค่เรารับรู้ และคอยคิดเสมอว่าข้อมูลที่เราได้รับทุกอย่าง อาจจะผิด อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด เราก็จะสามารถอยู่ในสังคมได้โดยไม่มีปัญหา

การรับรู้ถึงปัญหา ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตภายใน Echo Chamber ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เราออกจาก Echo Chamber  ถ้าเราอยากจะออกจากกะลาจริง ๆ ล่ะ อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนก็น่าจะรู้ว่าออกจาก Echo Chamber หมายถึงเราต้องรับฟังข่าวสาร และความคิดเห็นด้านอื่น แต่ในเมื่อ Recommender AI ที่มีใน Social Media ไม่ได้ช่วยให้รับรู้ข่าวสารจากนอกวงที่เราสนใจได้ง่ายขึ้นเลย เราพอจะมีเครื่องมืออย่างอื่นที่ช่วยเราได้ไหม ?

AI นั้นคือโปรแกรมที่สามารถเรียนรู้ได้ เราอยากเห็นคอนเทนต์แบบไหน เราก็ต้องสอน AI ให้รู้ว่าเราสนใจคอนเทนต์แบบนั้น วิธีสอน Recommender AI เพื่อช่วยให้เราออกจาก Echo Chamber ก็คือการกดเข้าไปดูคอนเทนต์ที่หลากหลาย และที่สำคัญต้องเป็นคอนเทนต์ที่ไม่ใช่สิ่งที่ AI แนะนำเรามา แพลตฟอร์มส่วนใหญ่จะมีเครื่องมือในการสำรวจหาคอนเทนต์ที่ไม่ได้มาจาก Recommender อยู่แล้ว เช่น แถบ Explore ของ YouTube หรือ Trending ใน Twitter

Youtube Explore tab
Youtube Trends for you

แต่ ๆ ๆ ๆ

ก็จะมีปัญหาอีกอย่างคือ คอนเทนต์บนหน้า Explore หรือ Trending นั้น มีโอกาสสูงที่จะเป็นสิ่งที่เราไม่สนใจ หรือเป็นความคิดเห็นที่ต่างกันเกินไปจนเราไม่อยากที่จะคลิกเข้าไปด้วยซ้ำ จะให้คนเชียร์ Republican อยู่ดี ๆ ไปดูวีดีโอเชียร์ Democrat เลยก็คงยาก โจทย์หลัก ๆ ตอนนี้ก็คือเราต้องการคอนเทนต์แนวใหม่ ๆ แต่ต้องไม่ห่างจากสิ่งที่เราชอบมากเกินไป

ผมพยายามหาสิ่งที่ตอบโจทย์ข้างต้นมาสักระยะหนึ่ง ก็ได้เจอกับฟีเจอร์ “New to you” ของ YouTube ซึ่งถูกซ่อนไว้อย่างแนบเนียนมาก โดยจะมีปุ่ม “New to you” อยู่บนแถบที่อยู่ใต้ Search bar และต้องกดลูกศร > หรือเลื่อนไปทางขวาสุด ตามรูปด้านล่าง (ต้อง sign in ก่อนถึงจะเห็น)

Youtube New to you
ตำแหน่งปุ่ม “New to you” ที่ถูกซ่อนไว้เหมือนไม่อยากให้มีใครเห็น
(ภาพซ้ายไม่ได้ sign in เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้เขียน)

ฟีเจอร์นี้มีมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 โดย YouTube ได้ทำปุ่มนี้ขึ้นเพื่อช่วยช่องเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ ให้มีโอกาสแข่งขันกับช่องใหญ่ ๆ โดยจะใช้ AI เพื่อจัดลำดับคอนเทนต์ที่คล้ายกับสิ่งที่คุณสนใจ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมาจากช่องที่คุณไม่เคยดูมาก่อน หรือไม่ได้ดูมานานแล้วเท่านั้น

ถึงฟีเจอร์นี้จะไม่ได้ทำมาตอบโจทย์ของเราเสียทีเดียว แต่ก็พอให้คำตอบที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราอยากได้ เนื่องจากการดูช่องที่ไม่เคยดูมาก่อน ก็จะช่วยขยายสิ่งที่อัลกอริทึมคิดว่าเราสนใจ การ recommend ครั้งต่อไปก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น ผมเองก็ได้ลองใช้ฟีเจอร์นี้มาประมาณ 1 สัปดาห์ ก็พบว่าหน้า Home ของ YouTube ของผมเปลี่ยนไปมากพอสมควรครับ

Afterword

AI สามารถทำได้ทั้งเร่ง และลดการเกิด Echo Chamber แต่แพลตฟอร์ม Social Media ส่วนใหญ่นำไปใช้ในการนำเสนอข้อมูลที่ตรงใจผู้ใช้มากที่สุด จึงทำให้มีแต่การเร่งให้เกิดปัญหาจาก Echo Chamber ที่รุนแรงมากขึ้น ผู้ใช้ต้องตระหนักรู้ถึงความเป็นไปได้ที่ตัวเองจะตกอยู่ใน Echo Chamber เสมอ และคอยเตือนตัวเองไว้ตลอดเวลา

ในระยะหลัง ๆ ผมเริ่มเห็นแพลตฟอร์ม Social Media มีความสนใจที่จะแก้ปัญหาทางสังคมมากขึ้น ผมก็หวังว่าจะมีการแก้ไขปัญหานี้จากฝั่งผู้พัฒนาในอนาคต ในปัจจุบันผมอยากให้ผู้อ่านที่ใช้ YouTube ลองใช้ฟีเจอร์ที่ผมแนะนำดู หรือถ้าใครรู้ว่ามีฟีเจอร์อื่น ๆ หรือแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ ก็แชร์ความรู้กันได้นะครับ

เขียนโดย พชร วงศ์สุทธิโกศล
ตรวจทานและปรับปรุงโดย นนทวิทย์ ชีวเรืองโรจน์

Patchara Wongsutthikoson

Data Scientist Government Big Data Institute (GBDi)

Nontawit Cheewaruangroj, PhD

Project Manager and Senior Data Scientist at Big Data Institute (Public Organization), BDI