ในปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมธุรกิจในหลากหลายด้าน ด้วยความสามารถที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ AI กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในยุคดิจิทัลที่ทั่วโลกไม่อาจปฎิเสธได้ หน่วยงานภาครัฐของไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงริเริ่มพัฒนา แพลตฟอร์ม Thai AI เพื่อสร้างเครื่องมือที่ตอบโจทย์สำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่จะช่วยเสริมสร้างความแกร่งให้กับภาคธุรกิจ พร้อมทั้งยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ
ที่มาของ Thai AI
Thai AI Service Platform หรือที่รู้จักในชื่อ Thai AI และ AI for Thai เป็นแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทยที่พัฒนาขึ้นโดยกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRU) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เพื่อสนับสนุนการใช้งาน AI ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้งาน 3 กลุ่มหลักมีแพลตฟอร์ม AI ที่รองรับการใช้งานด้วยภาษาไทย ได้แก่ นักพัฒนาระบบ ผู้ประกอบการ SME และ Start Up รวมถึงบริษัทเอกชนต่าง ๆ
โดย Thai AI ได้รับการพัฒนาขึ้นให้มีความสามารถด้วยกัน 3 ด้านหลัก ๆ ดังนี้
- Language คือบริการด้านประมวลผลข้อความภาษาไทยรอบด้าน ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ Thai AI มีความสามารถในการประมวลผลภาษาไทย ยกตัวอย่างเช่น
- Word Segmentation คือกระบวนการหนึ่งของ NLP ที่จะแยกข้อความ หรือประโยคออกมาเป็นคำหรือประเภทของคำ เพื่อให้การวิเคราะห์และประมวลผลคำทำได้ง่ายขึ้น
- POS Tagging (Part of Speech Tagging) คือกระบวนการที่จะกำหนดประเภทของคำแต่ละคำในประโยคว่ามีหน้าที่ตามหลักภาษาอย่างไร เช่น เป็นคำนาม คำกริยา หรือคำคุณศัพท์
- NER (Named Entity Recognition) คือกระบวนการหนึ่งของ NLP ที่จะระบุและจัดประเภทคำในข้อความที่มีการอ้างอิงเอนทิตีที่มีชื่อเฉพาะออกจากข้อมูลโดยอัตโนมัติ

- Vision คือบริการด้านการวิเคราะห์และเข้าใจภาพและวิดีโอหลากหลาย ที่จะช่วยให้ Thai AI มีความสามารถด้านการวิเคราะห์ภาพและวิดีโอ ยกตัวอย่างเช่น
- OCR (Optical Character Recognition) คือกระบวนการในการแปลงข้อความที่อยู่ในภาพ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปภาพหรือไฟล์เอกสาร ให้มาเป็นข้อความที่สามารถแก้ไขต่อได้ในรูปแบบดิจิทัล
- Face Recognition คือเทคโนโลยีที่ใช้ในการระบุตัวตนของบุคคล โดยการใช้ Face Analytics และ AI มาวิเคราะห์ลักษณะใบหน้าของแต่ละบุคคล เพื่อยืนยันตัวตนของบุคคลนั้น ๆ
- Person Heatmap คือแผนที่ความร้อนที่ใช้ในการแสดงให้เห็นความหนาแน่น หรือการกระจายตัวของบุคคลในพื้นที่ โดยใช้สีในการแสดงความเข้มข้นของคนในแต่ละตำแหน่ง
- Conversation คือบริการด้านการสนทนาแบบครบวงจร ที่จะช่วยให้ Thai AI มีความสามารถด้านการสนทนา ยกตัวอย่างเช่น
- Speech-to-Text คือเทคโนโลยีที่จะแปลงเสียงพูดให้เป็นข้อความในรูปแบบดิจิทัล โดยการใช้ Machine Learning และ Speech Recognition ในการทำความเข้าใจคำพูดและแปลงออกมาเป็นข้อความ
- Chatbot คือ AI ที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารกับผู้ใช้ได้เหมือนเป็นมนุษย์ ทั้งในรูปแบบข้อความและเสียงได้แบบ Real time
- Text-to-Speech คือเทคโนโลยีที่จะแปลงข้อความตัวอักษรให้เป็นเสียงพูด โดยการใช้โมเดล TTS ในการประมวลผลข้อมูลเสียง
เนื่องจาก Thai AI ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของคนไทยโดยเฉพาะ จึงมีความสามารถที่โดดเด่น 3 ประการ ได้แก่
- ความเชี่ยวชาญด้านการประมวลภาษาไทย Thai AI สามารถวิเคราะห์และประมวลผลภาษาไทยได้อย่างแม่นยำ พร้อมให้บริการเครื่องมือที่ใช้งานได้ทันที เช่น การแยกคำ การแปลภาษา และการวิเคราะห์ความคิดเห็น
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาแอปพลิเคชัน นักพัฒนาสามารถนำเครื่องมือของ Thai AI ไปใช้เพื่อเร่งกระบวนการพัฒนาแอปพลิเคชัน ทำให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นไปได้รวดเร็วและง่ายดายยิ่งขึ้น
- การทดลองใช้งานฟรี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทุกระดับได้สัมผัสความสามารถของ AI สัญชาติไทย ผู้ใช้งานสามารถทดลองใช้บริการเหล่านี้ได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
นอกจากนี้แพลตฟอร์มนี้ยังเปิดโอกาสให้นักพัฒนาและนักวิจัยสามารถนำ API ไปต่อยอดเพื่อสร้างแอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและสังคม ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลและวิธีการใช้งานได้ที่ AI FOR THAI – Thai AI Service Platform

Thai AI คือปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทยที่มาพร้อมความสามารถรอบด้าน ทั้งการประมวลผลข้อความ รูปภาพ และเสียง ซึ่งการพัฒนา Thai AI นับเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐในการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้และนำ AI ไปต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ การศึกษา หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งจะ
เป็นการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพในเวลาอันใกล้!
แหล่งอ้างอิง

Big Data Institute (Public Organization)
- Big Data Institute (Public Organization)#molongui-disabled-link