ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและความพยายามของภาครัฐในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ยังคงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังประสบปัญหาด้านรายได้ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการพื้นฐาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังฝังรากลึกในโครงสร้างสังคมไทย การแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยระบบ TPMAP ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP: Thai People Map and Analytics Platform) พัฒนาขึ้นโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ (สศช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างของการพัฒนาระบบ Big Data ของภาครัฐ ตามมติของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ในเวลาต่อมาได้นำระบบดังกล่าวมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้ ลดภาระค่าครองชีพ และเพิ่มโอกาสด้านอาชีพ Thai People Map and Analytics Platform – TPM★P ระบบ TPMAP สามารถเข้าถึงผ่านเว็บไซต์ https://www.tpmap.in.th/ แสดงข้อมูล “คนจนเป้าหมาย” จากกลุ่มคนที่ได้รับการสำรวจความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) จากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยดัชนีความยากจนหลายมิติว่ายากจน และข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลัง ในระยะแรกกลุ่มคนจนเป้าหมายของ TPMAP คือกลุ่มคนที่ได้รับการสำรวจ จปฐ. ว่ายากจน (survey-based) และเป็นผู้ที่มาลงทะเบียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (registered based) ซึ่งต่อมาได้ขยายกลุ่มคนจนเป้าหมายเป็นทั้งกลุ่มที่ลงทะเบียนและไม่ได้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการฯ แบบสำรวจ จปฐ. และดัชนีความยากจนหลายมิติ วัดความยากจนอย่างไร การสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) คือ ข้อมูลในระดับครัวเรือนที่แสดงถึงสภาพความจำเป็นพื้นฐานของคนในครัวเรือนในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเอาไว้ว่า คนควรจะมีคุณภาพชีวิตในแต่ละเรื่องอย่างไรในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ มีการปรับปรุงแบบสอบถามทุก ๆ 5 ปี ดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับครัวเรือน โดยมุ่งเน้นการเก็บข้อมูลในพื้นที่ชนบทและชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก นั่นคือ เขตชนบทและชุมชนท้องถิ่น พื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลตำบลที่ยกฐานะจาก อบต. แบบสำรวจ ดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index: MPI) พัฒนาโดย Oxford Poverty & Human Development Initiative และ United Nation Development Programme ซึ่ง สภาพัฒน์ได้นำมาปรับใช้กับประเทศไทย โดยอาศัยหลักการที่ว่า คนจนคือผู้ที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพชีวิตที่ดีในมิติต่าง ๆ ซึ่ง TPMAP พิจารณาจาก 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านการเงิน ด้านความเป็นอยู่ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ ดังนั้น ครัวเรือนที่จน คือ ครัวเรือนที่ได้รับการสำรวจว่าจนจาก ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) นั่นคือ ตกดัชนีความยากจนหลายมิติ (MPI) อย่างน้อย 1 มิติ ซึ่งหมายถึงครัวเรือนตกเกณฑ์ตัวชี้วัดที่อยู่ในมิตินั้น อย่างน้อย 1 ตัวชี้วัด และคนจนเป้าหมาย คือ คนที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่ได้รับการสำรวจว่าจน ภาพรวมข้อมูลบนระบบ TPMAP จากข้อมูลการสำรวจความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ซึ่งครอบคลุมประชากรราว 35 ล้านคนต่อปี พบว่า สัดส่วนของคนจนเป้าหมาย มีแนวโน้มลดลงในช่วงปี 2560–2562 โดยลดจาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีข้อมูลในช่วงปี 2563–2564 จึงไม่สามารถติดตามแนวโน้มในช่วงเวลาดังกล่าวได้โดยตรง กระทั่งปี 2565 พบว่า สัดส่วนคนจนเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 9.52% (ประมาณ 3,438,515 คน) ซึ่งอาจเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อมาในปี 2566 ตัวเลขนี้ลดลงอย่างชัดเจนเหลือเพียง 1.81% (ประมาณ 655,365 คน) แต่ในปี 2567 สัดส่วนของคนจนเป้าหมายกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้งเป็น 7.39% (ประมาณ 2,568,168 คน) อันเป็นผลจากการ ปรับนิยาม และการ เพิ่มตัวชี้วัด ที่ใช้วิเคราะห์คนจนเป้าหมายในมิติต่าง ๆ ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการออกแบบมาตรการลดความเหลื่อมล้ำอย่างจำเพาะ โดยคำนึงถึงทั้ง มิติปัญหา และ บริบทพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงผู้ที่มีความต้องการได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ปัจจัยที่มักจะขาดแคลนร่วมกันคืออะไรบ้าง? หาความสัมพันธ์ของตัวชี้วัดด้วย Pearson’s correlation ความยากจนไม่ใช่เพียงการขาดรายได้ แต่เป็นชุดของปัจจัยที่ขาดแคลนร่วมกัน ในการทำความเข้าใจปัญหาความยากจนอย่างรอบด้าน จำเป็นต้องวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และการศึกษา การนำ Pearson’s correlation coefficient มาใช้ช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ อย่างชัดเจน และสามารถระบุได้ว่าปัจจัยใดมักเกิดร่วมกันในกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนเชิงนโยบายที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ พบว่าตัวชี้วัดบางคู่มีค่าสหสัมพันธ์สูงอย่างมีนัยสำคัญ (r > 0.8) ตัวอย่างเช่น ด้านสุขภาพ ในพื้นที่จังหวัดหนึ่ง ๆ ครัวเรือนที่ขาดความรู้ในการใช้ยาเพื่อบำบัดบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นอย่างเหมาะสม มักจะเป็นครัวเรือนเดียวกับที่ขาดการจัดการด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ในด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ขาดความรู้ในการป้องกันอุบัติภัยและภัยธรรมชาติ ไม่จัดบ้านให้สะอาดและถูกสุขลักษณะ มีสมาชิกในบ้านสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา รวมถึงไม่มีการเก็บออมเงินและขาดรายได้ที่มั่นคง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความรู้และพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดี ไม่ได้แยกขาดออกจากกัน แต่มักเกิดร่วมกันเป็นกลุ่มของความเปราะบางในชีวิตประจำวัน ด้านการมีงานทำและรายได้ ในหลายจังหวัด หากคนวัยแรงงาน (อายุ 15–59 ปี) ไม่มีอาชีพหรือรายได้ มักจะเป็นจังหวัดเดียวกันกับที่ผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ก็ไม่มีรายได้หรืออาชีพเช่นกัน และยังพบว่าจำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนมากในพื้นที่เดียวกันด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การไม่มีรายได้ในคนวัยทำงาน ไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับตัวเขาเอง แต่ยังส่งผลต่อความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือน และเป็นภาพรวมของความยากจนในระดับครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้ในจังหวัดที่ครัวเรือนขาดการเก็บออมเงิน มักจะเป็นครัวเรือนเดียวกับที่ขาดพฤติกรรมหรือระบบสนับสนุนอื่น ๆ ที่สะท้อนถึงความมีวินัยและการวางแผนชีวิต เช่น ขาดการป้องกันอุบัติภัยอย่างถูกวิธี สมาชิกครัวเรือนมีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการสูบบุหรี่ ไม่มีรายได้หรืออาชีพที่มั่นคง และไม่ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนถึง ความเปราะบางทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมส่วนบุคคล ที่มักจะเกิดร่วมกันในครัวเรือนกลุ่มเดียวกัน การไม่มีการออมจึงไม่ใช่เพียงปัญหาทางการเงิน แต่ยังเชื่อมโยงกับการขาดวินัย ขาดความรู้ด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงการขาดหลักยึดทางจิตใจบางประการ ซึ่งบ่งชี้ว่าการส่งเสริมการออมควรมาควบคู่กับการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ การมีรายได้ที่มั่นคง และการสร้างความเข้มแข็งทางสังคมในระดับครัวเรือนอย่างเป็นระบบ ด้านสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ หลายจังหวัดพบว่า ครัวเรือนที่ไม่สามารถจัดการบ้านเรือนให้สะอาด เป็นระเบียบ และถูกสุขลักษณะได้ มักจะเป็นครัวเรือนเดียวกับที่มีพฤติกรรมสุขภาพและความเป็นอยู่ด้านอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสมร่วมด้วย เช่น สมาชิกในบ้านสูบบุหรี่ ขาดการป้องกันอุบัติภัย ไม่มีการเก็บออมเงิน รายได้ไม่มั่นคง และไม่ใส่ใจการตรวจสุขภาพหรือปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สุขภาวะของครัวเรือนไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องความสะอาดของบ้านเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับวินัยทางการเงิน พฤติกรรมสุขภาพ และความเป็นอยู่โดยรวม นอกจากนี้พบว่า ครัวเรือนที่ไม่มีน้ำสะอาดเพียงพอสำหรับดื่มและบริโภคตลอดทั้งปี ก็มักจะเป็นครัวเรือนเดียวกับที่ไม่มีน้ำใช้เพียงพอในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัญหาด้านแหล่งน้ำในครัวเรือนไม่ได้เกิดแยกกัน แต่เป็นความขาดแคลนที่ครอบคลุมทั้งคุณภาพและปริมาณของน้ำ...