Taking too long? Close loading screen.

สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

12 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ ในปี 2022

Dec 24, 2021

ใกล้จะสิ้นปี 2021 กันแล้ว ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมาใหม่อยู่เรื่อย ๆ การจะตามให้ทันทุกเทคโนโลยีคงเป็นไปได้ยาก อีกไม่นานก็จะปี 2022 กันแล้ว ทางบริษัท การ์ตเนอร์ (Gartner) ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ก็ได้วิเคราะห์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่จะเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจ 12 อย่างของปี 2022 ที่จะทำให้เกิดการเพิ่มธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และถ้าผู้บริหารองค์กรหรือหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถนำไปใช้ ก็จะช่วยทำให้การทำงานขององค์กรสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น

strategic technology trends for 2022
ภาพจาก Top Strategic Technology Trends for 2022 | Gartner
Trend 1: Data Fabric

เนื่องจากในปัจจุบันมีข้อมูลเกิดขึ้นมากมาย หลากหลายแพลตฟอร์ม Data fabric เป็นแนวคิดการออกแบบที่เชื่อมข้อมูลในแพลตฟอร์มข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้เสมือนราวกับว่าข้อมูลในแต่ละที่แต่ละแพลตฟอร์มอยู่ร่วมกันในที่เดียว ช่วยเพิ่มความสะดวกในการจัดการข้อมูล ทำให้ข้อมูลสามารถพร้อมใช้งานได้ทุกที่ตามต้องการ และ Data Fabric สามารถใช้ในการวิเคราะห์และแนะนำว่าข้อมูลส่วนไหนที่จะถูกนำไปใช้หรือตรงไหนที่ควรเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยลดงานที่ต้องจัดการข้อมูลได้ถึง 70%

Trend 2: Cybersecurity Mesh

Cybersecurity mesh เป็นสถาปัตยกรรมที่ว่าด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยของทรัพย์สินดิจิทัลที่มีโซลูชันด้านความปลอดภัยที่ต่างกันทั้งหมดขององค์กร ให้สามารถจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยโดยรวมได้ โดยมีความสามารถในการกำหนดขอบเขตความปลอดภัย ตรวจสอบตัวตน สามารถเช็คการใช้งานว่าเป็นไปตามนโยบายหรือไม่ และสามารถทำการควบคุมและจัดการได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าทั้งทรัพย์สินดิจิทัลจะอยู่บนสภาพแวดล้อมระบบคลาวด์หรือไม่ใช่คลาวด์ก็ตาม

Trend 3: Privacy-Enhancing Computation

Privacy-Enhancing Computation เป็นเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยควบคุม และดูแลข้อมูลส่วนบุคคล ที่ถูกนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าเชื่อถือ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยลดความกังวลของเจ้าของข้อมูล

Trend 4: Cloud-Native Platforms

Cloud-Native Platforms จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้คุณสร้างแอปพลิเคชันบนระบบคลาวด์ได้อย่างยืดหยุ่น รวดเร็ว เพื่อตอบสนองตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะแก้ไขปัญหาของวิธีเดิมของการย้ายแอปพลิเคชันไประบบคลาวด์แบบ Lift and Shift ที่ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ของคลาวด์ได้อย่างเต็มที่ และยังมีความซับซ้อนในการบำรุงรักษา

Trend 5: Composable Applications

การสร้างแอปพลิเคชันโดยแบ่งเป็นส่วน ๆ ยึดตามโจทย์ของธุรกิจเป็นหลัก โดยจะทำให้ง่ายต่อการพัฒนา และสามารถนำโค้ดเดิมกลับมาใช้ใหม่ในซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ได้ซอฟต์แวร์ที่ออกสู่ตลาดได้เร็วมากยิ่งขึ้น

Trend 6: Decision Intelligence

การนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น augmented analytics, simulations และ AI มาช่วยส่งเสริมการตัดสินใจเพื่อการดำเนินงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Trend 7: Hyperautomation

เป็นแนวทางที่ใช้การขับเคลื่อนธุรกิจผ่านการทำให้กระบวนการทางธุรกิจและ IT เป็นแบบอัตโนมัติและมีความยืดหยุ่นสามารถปรับปริมาณการใช้งานได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพของงาน ให้สามารถทำงานจากทางไกลได้ และเพิ่มความเร็วของกระบวนการทางธุรกิจ

Trend 8: AI Engineering

พนักงานที่พัฒนาแอปพลิเคชันที่ไม่ได้มีประสบการณ์ด้าน AI จะต้องใช้ทั้งเวลาและเงินจำนวนมากในการนำระบบที่มี AI เข้ามาใช้ร่วมกับแอปพลิเคชัน การมี AI engineer ที่เชี่ยวชาญจะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพและสามารถส่งมอบงานที่เป็นประโยชน์แก่องค์กรได้อย่างดีแน่นอน

Trend 9: Distributed Enterprises

เมื่อการทำงานไม่จำเป็นต้องทำที่ออฟฟิศเท่านั้น การทำงานจากระยะไกลเริ่มเพิ่มขึ้น องค์กรก็ต้องนำเทคโนโลยีที่จะช่วยในการทำงาน เพื่อให้พนักงาน ลูกค้า หรือ partner ได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ดีที่สุด

Trend 10: Total Experience

คือการบริหารจัดการประสบการณ์แบบองค์รวม ที่จะประสานประสบการณ์ รวมไปถึงความเชื่อมั่น ความพึงพอใจ ความภักดี ทั้งของพนักงาน ลูกค้า และผู้ใช้งาน เข้ามาพิจารณาร่วมกัน เพื่อใช้ออกแบบกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต

Trend 11: Autonomic Systems

ระบบอัตโนมัติที่ปรับตัวและเรียนรู้ได้แบบเรียลไทม์ เป็นทั้งระบบแบบกายภาพและซอฟต์แวร์ที่สามารถตอบรับความต้องการในสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และป้องกันการโจมตีโดยที่ไม่ต้องมีคนมาคอยดูแลจัดการ

Trend 12: Generative AI

Generative AI คือเทคโนโลยีที่สามารถเรียนรู้จากข้อมูลที่มีอยู่และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาได้ โดยไม่ซ้ำกับของเดิม สามารถสร้างเนื้อหาที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้ เช่น คอนเทนต์วิดีโอ หรือการเพิ่มความเร็วในการวิจัยและการพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่ยาจนถึงการสร้างผลิตภัณฑ์

เทรนด์เทคโนโลยีจะช่วยพลักดันธุรกิจแบบดิจิทัลได้อย่างไร

  • Engineering Trust เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่กล่าวถึงจะช่วยสร้างรากฐานให้กับ IT ให้มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมั่นใจได้ว่าการประมวลผลข้อมูลทั้งที่อยู่บนระบบคลาวด์และที่ไม่ได้อยู่บนระบบคลาวด์จะมีความปลอดภัย และสามารถปรับขนาดโครงสร้างของ IT ได้ตามที่ต้องการอีกด้วย
  • Sculpting Change การเปลี่ยนแปลงขององค์กรตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้คุณสามารถปรับขนาดและเร่งการพัฒนาองค์กรสู่การเป็น digitalization ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรสามารถสร้างแอปพลิเคชันที่ช่วยให้คุณลดขั้นตอนทางธุรกิจและปรับให้เป็นระบบอัตโนมัติ หรือการเพิ่มประสิทธิภาพของ AI เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการนำไปใช้ตัดสินใจขององค์กรได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น
  • Accelerating Growth การเติบโตแบบก้าวกระโดดโดยอาศัยเทรนด์ของเทคโนโลยี จะทำให้องค์กรมีกำลังที่จะชนะในธุรกิจและได้ส่วนแบ่งในตลาด และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้องค์กรของคุณและความสามารถทางด้านดิจิทัลอีกด้วย

ที่มา

บทความนี้ถูกแปลมาจาก Top Strategic Technology Trends for 2022 | Gartner

แปลโดย วริศ หลิ่มโตประเสริฐ

ตรวจทานและปรับปรุงโดย พีรดล สามะศิริ

Waris Limtoprasert

Data Engineer Government Big Data institute (GBDi)

Peeradon Samasiri, PhD

Project Manager and Senior Data Scientist at Government Big Data Institute (GBDi)