สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

การประยุกต์ใช้ข้อมูลทางอุตุฯเพื่อการเกษตร ท่องเที่ยว และการเดินเรือ

Dec 14, 2022

ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยามีผลต่อการวางแผนในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย บทความนี้จะยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาสำหรับการวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาน้ำฝน การวางแผนสำหรับการท่องเที่ยว รวมทั้งการเฝ้าระวังในการเดินเรืออีกด้วย

กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับ GBDi ในการนำข้อมูล Big Data ทางอุตุนิยมวิทยาของกรมอุตุฯ มาประยุกต์ใช้ เพื่อนำเสนอข้อมูลการพยากรณ์อากาศให้เกิดประโยชน์ต่อภาคส่วนต่าง ๆ โดยในระยะเริ่มต้น GBDi ให้การสนับสนุนกรมอุตุฯในด้านการทำ Data Visualization และ Data Analytics ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนโครงการในระยะสั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการเชื่อมโยงและการวิเคราะห์ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ผ่าน 3 โครงการหลัก ดังนี้

  1. อุตุนิยมวิทยาเพื่อการเกษตร
  2. อุตุนิยมวิทยาเพื่อการท่องเที่ยว
  3. การพยากรณ์อากาศเพื่อการเดินเรือ

1. อุตุนิยมวิทยาเพื่อการเกษตร

อุตุนิยมวิทยาเพื่อการเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าว ซึ่งมีการสำรวจ ศึกษาสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ และสร้างแบบจำลอง เพื่อมุ่งเน้นการปลูกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรและลดผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนที่ไม่อาจคาดเดาได้ สร้างเป็น Dashboard การตัดสินใจปลูกข้าวในพื้นที่นาน้ำฝนของภาคอีสานโดยใช้ปริมาณน้ำฝนสะสมล่วงหน้าดังรูปที่ 1 และ 2

รูปที่ 1 Dashboard แนะนำการตัดสินใจปลูกข้าวในพื้นที่ภาคอีสาน
รูปที่ 2 Dashboard การติดตามสภาพอากาศรายวัน

2. อุตุนิยมวิทยาเพื่อการท่องเที่ยว

          การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราโดยเฉพาะในเรื่องของการเดินทาง การติดตามสภาพอากาศเพื่อการท่องเที่ยวถือเป็นประเด็นสำคัญที่เราสนใจในการนำข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยามาประยุกต์เพื่อแนะนำการท่องเที่ยว โดยแบ่งตามช่วงเวลาที่สนใจ แดชบอร์ดแสดงข้อมูลการคาดการณ์วันที่เหมาะสมสำหรับการเดินป่า การไปเที่ยวชายหาด การไปเที่ยวทะเล และกิจกรรมอื่น ๆ โดยมีตัวกรองให้สามารถเลือกแสดงผลเดือนที่สนใจได้

โดยใช้ความสามารถของกรมอุตุนิยมวิทยาที่สามารถพยากรณ์อากาศ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ ตามลักษณะอากาศที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. หากอากาศไม่ร้อน ไม่มีฝน แนะนำให้เดินป่า
  2. หากมีแดด ไม่มีฝน แนะนำให้ท่องเที่ยวชายหาด
  3. หากคลื่นทะเลเรียบ ไม่มีฝน แนะทำให้ไปเที่ยวทะเล
  4. หากมีฝน และลมแรง แนะนำให้ทำกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากการเดินป่า ชายหาด และทะเล

นอกจากนี้ยังมีการแสดงปฏิทินที่แสดงความเหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี โดยแยกเป็น

  • สีเขียว: แนะนำสำหรับการท่องเที่ยว
  • สีเหลือง: ควรใช้ความระมัดระวังในการท่องเที่ยว
  • สีแดง: ไม่แนะนำให้ท่องเที่ยวในช่วงเวลานั้น

สามารถดูตัวอย่างประกอบได้ที่ Dashboard

รูปที่ 3 Dashboard ปฏิทินแนะนำการท่องเที่ยว

3. การพยากรณ์อากาศเพื่อการเดินเรือ

การพยากรณ์อากาศเพื่อการเดินเรือ อาศัยข้อมูลจาก 2 แบบจำลอง คือ

  1. แบบจำลอง WRF ซึ่งเป็นแบบจำลองสำหรับวิเคราะห์ลักษณะอากาศบริเวณท่าเรือ
  2. แบบจำลอง WAM ซึ่งเป็นแบบจำลองคลื่นลมในทะเล

ข้อมูลจำแนกตามท่าเรือต่าง ๆ โดยข้อมูลที่แสดงใน Dashboard ได้แก่ พิกัดท่าเรือ ปริมาณน้ำฝน ความสูงคลื่น คาบคลื่นเฉลี่ย ทิศทางคลื่น ทิศทางลม และความเร็วลม โดยข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ถูกนำมาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเดินเรือ

ภาพที่ 4 Dashboard การพยากรณ์อากาศเพื่อการเดินเรือ
ภาพที่ 5 ปัจจัยสำหรับการพยากรณ์อากาศเพื่อการเดินเรือเพิ่มเติม

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างการประยุกต์ใช้ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาในส่วนของคำแนะนำของการปลูกข้าวในพื้นที่นาน้ำฝน คำแนะนำในการวางแผนการท่องเที่ยว และการตัดสินใจเดินเรือในเบื้องต้นเท่านั้น ในระยะถัดไปอาจมีการนำข้อมูลจากแบบจำลองอื่น ๆ หรือข้อมูลเพิ่มเติมมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของเราทุกคนต่อไป

Reference

Dashboard การเกษตร

Dashboard การท่องเที่ยว

Dashboard การเดินเรือ

เนื้อหาโดย ขวัญศิริ ศิริมังคลา
ตรวจทานและปรับปรุงโดย